คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ยาฆ่าเชื้อกับยาแก้อักเสบคือยาตัวเดียวกัน เช่นเมื่อเป็นหวัดเจ็บคอ ก็มักจะหาซื้อยาแก้อักเสบมารับประทานเอง เพราะเข้าใจว่าไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อจึงหาซื้อยาเพื่อให้หายไวขึ้น ซึ่งในความจริงแล้วไข้หวัดอาจเป็นได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ (antibiotic) เป็นยาที่ใช้ฆ่าเชื้อหรือยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส แก้อาการอักเสบหรือแก้ปวดได้เหมือนการกินยาแก้อักเสบ (anti-inflammatory drugs) เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ดังนั้นยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบจึงไม่ใช่ยาตัวเดียวกัน
3 กลุ่มโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ คือ โรคหวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน แผลสด
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยาฆ่าเชื้อ
- ยาฆ่าเชื้อยิ่งแรง ยิ่งช่วยให้หายไว
เป็นความเชื่อที่ผิด ยกตัวอย่าง การติดเชื้อของหวัดธรรมดามักเกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้นการกินยาฆ่าเชื้อหรือไม่กิน ก็หายเท่ากัน เพราะไวรัสสามารถหายเองได้ - ยาฆ่าเชื้อเหลือเก็บไว้รับประทานได้
เป็นความเชื่อที่ผิด ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การติดเชื้อแต่ละครั้งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียเสมอไป และหากติดเชื้อที่อวัยวะแตกต่างกัน เช่น เคยกินยาฆ่าเชื้อที่คอ จะเอายาที่กินเหลือมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และไม่ควรใช้ยาร่วมกับผู้อื่น - ยาฆ่าเชื้อแคปซูลแกะละลายน้ำดีกว่า
เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะตัวยาที่ถูกบรรจุในรูปแบบของแคปซูล จะถูกชั่งวัดตวงมาเรียบร้อยแล้ว การแกะแคปซูลไปละลายน้ำ ทำให้ตัวยาบางส่วนติดอยู่ตามก้นของแคปซูล ทำให้ร่างกายรับยาไม่ครบ นอกจากนี้ ยาในรูปแบบแคปซูลถูกออกแบบมาเพื่อให้ตัวยาสามารถไหลผ่านกรดในกระเพาะ ผ่านน้ำย่อยในลำไส้ส่วนต้นแล้วให้ยาไปสลายตัวและดูดซึมตรงลำไส้ การปลดแคปซูลออกก่อน จะทำให้ตัวยาถูกสลายหรืออาจรบกวนจากน้ำย่อย นอกจากจะไม่ทำให้การรักษาไวขึ้น หรือไม่ต่างกัน อาจส่งผลแย่กว่าการกลืนแคปซูลแบบปกติ

อันตรายจากการกินยาฆ่าเชื้อผิดวิธี
- แพ้ยา หากแพ้ยาไม่มากอาจมีอาการมีผื่นคัน แต่หากเป็นมากอาจเกิดเป็นแผลหลุดลอกหรือเป็นรอยไหม้หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
- เกิดโรคแทรกซ้อน ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียดีมีประโยชน์ในลำไส้ และหากแบคทีเรียดีก็อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้
- เชื้อดื้อยา การซื้อยากินเองอย่างพร่ำเพรื่อโดยไม่มีข้อบ่งใช้ อาจกระตุ้นให้เกิดเชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา
แนวทางการรับประทานยาฆ่าเชื้อให้ปลอดภัย
- หากคิดว่าต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกวิธี
- เมื่อได้รับยาฆ่าเชื้อมาแล้ว ให้รับประทานตามฉลาก ตามคำแนะนำ และต้องรับประทานยาติดต่อกันจนหมดและต่อเนื่อง หากรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง เพราะคิดว่าหายดีแล้วและหยุดยาเอง จะทำให้ร่างกายสะสมเชื้อดื้อยา ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะเสี่ยงเป็นโรคเชื้อดื้อยา และอาจเจ็บป่วยรุนแรงกว่าเดิม